ออฟฟิศซินโดรม ถือเป็นอาการเจ็บป่วย ที่นายจ้างต้องรับผิดชอบหรือไม่

  • 23 พ.ค. 2566
  • 908
หางาน,สมัครงาน,งาน,ออฟฟิศซินโดรม ถือเป็นอาการเจ็บป่วย ที่นายจ้างต้องรับผิดชอบหรือไม่

ออฟฟิศซินโดรม หรือโรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก WMSD ปัญหาสุขภาพของคนทำงานที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ

 

แล้วโรคนี้ถือเป็นอาการเจ็บป่วยที่มาจากการทำงาน ที่นายจ้างต้องรับผิดโดยการจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้าง ตามพ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 หรือไม่ ? มาหาคำตอบกันเลยค่ะ

 

พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ นิยามคำว่า “เจ็บป่วย” หมายถึง การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตาย ด้วยโรคที่เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน ซึ่งการจะทราบว่าโรคใดเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ก็เป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน

 

และเมื่อพิจารณาตามประกาศดังกล่าวแล้ว โรคออฟฟิศซินโดรมไม่ถูกกำหนดว่าเป็นโรคอันเนื่องมาจากการทำงานค่ะ

 

ทั้งนี้ ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มโรคปวดกล้ามเนื้อหลัง (Musculotendinous strain) สาเหตุมักเกิดจากการทำงานก้มๆ เงยๆ ยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะมีอาการเกร็งตัว ทำให้ปวดหลัง หรือโรครากประสาทถูกกด หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Herniated Intervertebral discs) มักพบในคนที่แบกของหนัก

 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามอาการของโรคแล้ว ทนายฝ้ายมีความเห็นว่า โรคดังกล่าวอาจถือเป็นการเจ็บป่วยเนื่องมาจากการทำงานได้ หากงานที่ลูกจ้างทำเป็นงานแบกหาม คนงานในคลังโกดัง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าอาการนั้นมีสาเหตุมาจากการทำงาน ทั้งนี้ ตามข้อ 3 (2) 10) พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าโรคดังกล่าว เกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงานหรือไม่

 

ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างเกิดสิทธิ์อย่างไร ?

นายจ้างจะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนในกรณีเจ็บป่วย โดยจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงให้กับลูกจ้าง หรือค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หรือค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันเกิน 3 วัน ซึ่งการจ่ายเงินดังกล่าว จะจ่ายจากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง

 

อย่างไรก็ตาม แม้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม แล้วแพทย์วินิจฉัยสาเหตุว่าไม่ได้มาจากการทำงาน ลูกจ้างก็ยังสามารถใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลตามกฎหมายประกันสังคมได้นะคะ

 

ขอบคุณข้อมูล : ทนายฝ้าย ยิ่งพร อินทร์ศรีชื่น (วิทยากร และทนายความที่ปรึกษาด้านแรงงานและ PDPA) https://www.facebook.com/labourlawclinique/

 

HR Buddy มองว่า สุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องดูแลสม่ำเสมอ ไม่ควรละเลยแล้วต้องมาคอยรักษา ซึ่งนอกจากจะเสียเวลาแล้ว สุดท้ายเราอาจไม่ได้สุขภาพที่ดีกลับมาเหมือนเดิมด้วยค่ะ

 

สำหรับนายจ้างควรให้ความสำคัญกับหน้าที่งานของลูกจ้าง ลักษณะงานต้องไม่เสี่ยงต่อสุขภาพหรือร้ายแรงถึงชีวิตมากเกินไป หากตำแหน่งนั้นไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้มาก อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ,เพิ่มระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ,เพิ่มจำนวนคนทำงานหรือลดเวลาในการทำงาน

 

ส่วนลูกจ้าง สำหรับบางคนก็ยอมอดทนทำงานเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว แต่หากได้รับผลกระทบจากการทำงานก็จะยิ่งส่งผลที่ร้ายแรงมากกว่านะคะ ดังนั้น หากลักษณะงานที่ทำมีความเสี่ยง อาจมีการพูดคุยกับหัวหน้าว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรได้บ้าง หากไม่สามารถปรับได้ การหางานใหม่ให้ได้ก่อน (แล้วค่อยลาออก) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดค่ะ

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top